Anne with an E จากวัยเยาว์ก้าวสู่ความจริงของสาวน้อยแอนน์แห่งกรีนเกเบิลส์

Anne with an E จากวัยเยาว์ก้าวสู่ความจริงของสาวน้อยแอนน์แห่งกรีนเกเบิลส์

ถ้าให้สรุปแบบเร็ว ๆ ลวก ๆ เลยก็คือ “แอนน์เป็นเด็กเพ้อเจ้อ”


เนื้อเรื่องแบบสั้น ๆ ของ Anne with an E

Anne with an E เป็นเรื่องราวชีวิตวัยเด็กของน้องแอนน์ ที่มี “น์” หรือเรียกกับแบบเต็มยศสุด ๆ คือ “แอนน์ (คอดีเลีย) เชอร์ลีย์ คัทเบิร์ต” ในวัยสิบสามปีที่ถูกรับเลี้ยงโดยสองพี่น้องตระกูลคัทเบิร์ต คือ มาริลลาและแมทธิว คัทเบิร์ต เป็นการผจญภัยผ่านช่วงชีวิตวัยเด็ก ทั้งความรัก ความผิดพลาด การเรียนรู้และจินตนาการ ไปสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

ปัจจุบันตัวซีรีย์ประกาศจบไว้ที่ ซีซัน 3 ถึงตอนที่แอนน์ได้ไปเรียนต่อที่ควีน กรุณาติด #SaveAnneWithAnE หรือ #AWAE เพื่อซีซัน 4 ที่ไม่มีแววมาเพราะผู้สร้างเองก็ไม่ได้อยากให้จบแต่น้องโดนปัดตกไปเสียก่อนหรือไปร่วมลงชื่อในแคมเปญ “Renew Anne with an E for season 4!!” >>> ที่นี่<<<


แอนน์ไม่ใช่เด็กเพ้อเจ้อ เพราะแอนน์เป็นมากกว่านั้น??

ลองนึกภาพตามนะ…จาก Anne with an E ซีซั่น 1 การที่แอนน์สามารถผ่านเรื่องราวทั้งหมดนั้น+อาการที่น้องแสดงออก แล้วยังโตมาได้โดยไม่มีอาการทางจิตแอบแฝงมาด้วยคือ…มหัศจรรย์มากกกกก

ทั้งความรุนแรงในครอบครัว(คนอื่น) การกลั่นแกล้งจากเด็กวัยเดียวกัน ความหวาดกลัวต่อสถานรับเลี้ยงและคนดูแล+ความกำพร้าพ่อแม่ (ส่งผลให้เธอ)มีจินตนาการฟุ้งเฟ้อ สร้างความจริงชุดใหม่ขึ้นมาหลอกตัวเอง <<<<<นี่มันภูมิหลังของฆาตกรโรคจิตชัด ๆ !!

หรือไม่ก็คนวิกลจริต เปลี่ยนนิดเดียว Anne of Green Gables (ชื่อหนังสือต้นเรื่อง) ก็กลายเป็นซีรีย์ Thriller ประวัติชีวิตฆาตกรโรคจิตได้สบาย ๆ

ถ้าจะมีเด็กสักคนมาแอบเผาบ้านตอนกลางคืนก็แอนน์นี่แหละ

แต่ความจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเพราะความฟุ้งฝันนั้นทำให้แอนน์รอดพ้นวัยเยาว์อันแสนรวดร้าวมาได้ หากเรามองข้ามความคิดเห็นพิเรนทร์ ๆ เมื่อกี้ไปแล้วมองย้อนกลับมาในสิ่งที่แอนน์เป็นมันก็คือช่วงเวลาของวัยเด็กเท่านั้นเอง ความฟุ้งฝัน จินตนาการและความผิดพลาด 

ต้องยอมรับว่าคุณป้ามาริลลากับลุงแมทธิวใจกว้างและเย็นมากในการเลี้ยงดูน้องแอนน์ให้เติบโตขึ้นมาได้โดยไม่ลงมือฆ่าแกงกันให้ตายไปเสียก่อน ทั้งให้พื้นที่ในการเติบโต ให้โอกาสในความผิดพลาด ให้ความเข้าใจ ถือว่าเป็นครอบครัวที่ประเสริฐมากสำหรับน้องแอนน์ จริง ๆ


รีวิวความดีงามของ Anne with an E

เรื่องนี้เป็นซีรีย์ดีต่อใจเรื่องหนึ่งเลย (มันดีมาก ดูแล้วตอนนี้ไม่สามารถมูฟ-อรได้ง่าย ๆ ) มันสนุก มันสดใส มันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความเยาว์วัย เนื้อเรื่องก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เหมาะแก่การดูและซึมซับการเติบโตของแอนน์ ปมปัญหาของแต่ละตอนก็ไขไว จะไม่เน้นผูกไว้นาน เน้นการเดินผ่านช่วงชีวิต เรียนรู้ บลาๆๆๆ ไม่ใช่ซีรีย์ที่ดูเพื่อขบคิดขมวดคิ้วแต่ดูเพื่อเข้าใจแล้วอิ่มเอม (เห็นโปสเตอร์ก็รู้แล้วจะบอกทำไม) ประเด็นในเรื่องก็เป็นประเด็นตามยุคสมัย ต่อให้เราไม่รู้เราก็ยังสามารถซึมซับความสุขจากเรื่องนี้ในแบบของเราได้ ซึ่งบางครั้งก็เป็นความสุขแบบเคล้าน้ำตาหน่อย ๆ 

เราว่าใครดูเรื่องนี้ก็ได้ ดูด้วยกันในครอบครัวก็ได้ พ่อ แม่ ลูก สุดท้ายเราจะรักตัวละครสักตัวในเรื่องนี้ไปโดยปริยาย ดูในวันที่เหงา ๆ อยู่บ้านไม่มีอะไรทำ ดูในวันเครียด ๆ โดยด่าจากเจ้านาย ความสุขที่มากจนล้นของน้องแอนน์มันจะเติมเต็มเราได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เราไม่สามารถบรรยายได้ว่าซีรีย์เรื่องนี้มันสวยงามขนาดไหนเพราะมันสมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว มันแค่รอเราไปซึมซับมาเท่านั้นเอง แต่โปรดักชั่นคือ ดี-งาม-มากกกก ภาพวิวทิวทัศน์สวย ๆ เนื้อเรื่องดี ๆ สีงาม ๆ นักแสดงแจ่มว้าว เป็นอะไรที่เข้ากันจริง ๆ เหมือนกินต้มยำกุ้ง แซ่บ! (แต่ไม่ทรมาน)

ภาษาที่ใช้ในเรื่องนี้ สวย ไม่ใช่แค่คำที่แอนน์ชอบพรั่งพรูออกมานะ แต่เป็นภาษาและวิธีการพูดของตัวละครอีกหลาย ๆ ตัวเลย(เลือกคนพูด) ทั้งการสอน ตำหนิ ตักเตือนและอื่น ๆ มันเป็นวิธีการพูดที่ฉลาด จะไม่ใช้แค่อารมณ์ในการชักพาหรือแค่พูดให้รู้สึกผิด แต่เน้นการพูดอย่างคนเข้าใจมากกว่าเหมือนผ่านการคิดมาแล้ว เวลาดุ/ตำหนิจะมีความตำหนิแบบผู้ดีนิดหนึ่ง จะตำหนิแบบสุภาพและก่อประโยชน์ได้ คนฟังได้ยินก็ได้คิด ได้กลับไปพิจารณาตัวเอง บทจะด่าก็ด่าแบบไม่มีคำหยาบแต่จับใจ

หากมีหนังหรือซีรีย์สักเรื่องที่เราจะสละเวลาดูซ้ำได้ Anne with an E จะเป็นเรื่องที่หนึ่งในเรื่องนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย และ Save Anne with an E เพื่อให้พิจารณาสร้าง ซีซั่น 4 ต่อไป


หลากเรื่องในเมืองอาวอนลลี

Anne with an E มีภาพหลังเรื่องอยู่ในแคนาดาช่วงเวลาประมาณปลาย ๆ 1980-1900 ซึ่งเป็นช่วงยุคสมัยของการปฏิวัติ ปฏิวัติ ปฏิวัติและปฏิวัติ หลาย ๆ อย่าง ไล่มาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมไปจนถึงสิทธิสตรี มันเป็นระยะเวลาหนึ่งในช่วงยุคที่ความเจริญ ตู้ม!! เข้ามาพร้อมกันแบบโลกสะบัดแล้วค่อยตามด้วยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พูดง่ายก็เป็นช่วงโลกเปิดนั่นแหละ มีทั้งการแสวงหาและบลาๆๆ

ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ปลุกประเด็นต่าง ๆ ให้สังคมยุคปัจจุบันพอสมควร อย่างที่เห็นชัด ๆ เลยก็คือเรื่องของสิทธิมนุษยชน+สตรี แล้วซีรีย์น้องแอนน์ก็คือเหมาหมด เอาทุกอย่างทุกประเด็นที่นึกออก

ตั้งแต่คุณภาพชีวิต ความรุนแรงในครอบครัวในวัยเด็ก การกลั่นแกล้งกัน ชนชั้น การศึกษา เสรีภาพในการพูดและกาเคารพความเป็นส่วนตัวหลังจากมีเสรีภาพในการพูด การนินทา ข่าวลือ บทบาทชายหญิง สิทธิสตรี การล่วงละเมิดทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ ความต่างทางชาติพันธุ์ทั้งผิวสีและชนพื้นเมือง ซึ่งรวมถึงการเป็นเด็กผมแดงของแอนน์ด้วย การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่ชนพื้นเมืองถูกกระทำและอีกเยอะแยะมากมายที่นับไม่หมด

ในเมืองเล็ก ๆ บนเกาะอย่างอาวอนลีกลับมีครบหมดแทบทุกอย่างและไม่ได้ถูกเล่าด้วยการยัดเยียดประเด็น มันแค่เล่าผ่านเรื่องราวของชีวิตเด็กสาวคนหนึ่ง มันชัดเจนมากว่าในชีวิตจริงของเรา ทุกประเด็นเหล่านี้มันก็กอปรรวมกันอยู่ในชีวิตเราไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างสิทธิสตรีก็ไม่ได้โตขึ้นมาโดด ๆ เราจะไม่เห็นว่าสิทธิสตรีคืออะไรถ้าเราไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชน 

และน่าสนใจว่าในเมืองเล็กหลากประเด็นนี้ ตัวเรื่องยังสามารถดึงให้เราอินแล้วรู้สึก สัมผัสไปกับชีวิตตัวละครได้ มันไม่ได้มีเนื้อหาที่เศร้าโศก น้ำตาไหลพรากขนาดนั้น(ยกเว้นกลุ่มคนที่อ่อนไหวกว่านี้) แต่มันเต็มไปด้วยความอิ่มเอมและการหวนกลับสู่วัยเด็กพร้อมกับการแฝงประเด็น ต่อให้เรื่องราวของแอนน์จะเกิดขึ้นในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในต่างวัฒนธรรม แต่ความเป็นมนุษย์และความเป็นเด็กเด็กมันคือสิ่งที่โยงเราไว้กับเรื่องนี้และทำให้เราเข้าถึงมันได้ไม่ยาก


ประเด็นที่มากมายมหาศาลขนาดนั้นมันไม่ได้ถูกเล่าแบบจับยัดใส่
มันแค่ถูกเล่าผ่านเรื่องราวของเด็กกำพร้าคนหนึ่ง….เด็ก


สองพี่น้องตระกูลคัทเบิร์ต

ตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ(และชอบมาก) สำหรับเนื้อเรื่องนี้คือการให้สองพี่น้องคัทเบิร์ตเป็นคนแก่เกือบไม้ใกล้ฝัง เป็นช่วงวัยที่ชีวิตไม่แน่นอน จะไปก็ไปได้เลยเหมือนกัน จะอยู่ต่อก็ยังอยู่ต่อได้อีกยาว ๆ  ถือเป็นช่วงที่สุขภาพมันไม่ได้แข็งแรงแบบหนุ่มสาวแล้ว

เรามักมีภาพจำของคนที่จะรับเลี้ยงเด็กว่าน่าจะอยู่ในวัยที่กำลังสร้างครอบครัว ช่วงวัยที่ยังมีพลังเหลือล้นและมองไปถึงอนาคตข้างหน้าอีกยาว ๆ ไม่ใช่คนแก่เงอะงะ แม้ความตั้งใจแรกจะเป็นการรับเลี้ยงเด็กชายมาใช้งานก็ตามเพราะสุดท้ายแล้วทั้งคู่ก็รับเลี้ยงน้องแอนน์อยู่ดี วัยนี้น่าจะรอเล่นกับหลานแล้วแต่สองคนนี้ก็ไม่มีลูกอีก ดังนั้นแอนน์เลยไม่ได้มาในบริบทหลานแต่เป็นลูกคนแรกของทั้งคู่มากกว่า ลูกคนแรกในวัย 70+ และสีสันวัยเยาว์ที่ทั้งคู่ทำหล่นหายไป

ความต่างทั้งทัศนคติของช่วงอายุทั้งทางกายภาพและจิตใจมันคืออะไรที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างแอนน์กับสองพี่น้องตระกูลนี้ ความชรากับเยาว์วัย ชีวิตของอดีตกับชีวิตของอนาคต แต่เมื่อมันมาเจอกันและผ่านการยอมรับที่จะเอาเข้ามามันได้นำไปสู่ชีวิตมุมใหม่ของกันและกัน ในแบบที่พี่น้องตระกูลคัทเบิร์ตเองก็คิดไม่ถึง

พี่น้องคัทเบิร์ตคือคนที่ข้ามเข้าสู่ความเศร้า เฉา ซังกะตายตั้งแต่งวัยเด็กมาจนแก่ ทั้งจากการตายของพี่ชายและการป่วยของแม่ ข้ามช่วงเวลารื่นเริงและสดใสของวัยหนุ่มสาวไปเลย น้องแอนน์คือคนที่เข้ามาแล้วบอกให้ทั้งคู่ได้รู้จักใช้ชีวิต สลัดทิ้งอดีตแสนเศร้าที่ติดตัวแล้วมองไปสู่อนาคตข้างหน้าในความแก่เท่านี้!!

มันจึงเป็นการจับคู่ที่น่าสนใจระหว่างแอนน์กับพี่น้องคัทเบิร์ต ถ้าวันนั้นมิสสเปนเซอร์พาเด็กชายกลับมาจริง ๆ สองพี่น้องคัทเบิร์ตก็คงจะเข้าสู่วงจรชีวิตเดิม เข้มงวด ห่างเหิน เย็นชา ตกเป็นทาสของอดีตโดยไม่พบการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกเลยไปตลอดชีวิต การตัดสินใจรับแอนน์ไว้จึงถือว่าเป็นความกล้าหาญมาก ๆ สำหรับสองคนนี้และการเลี้ยงน้องแอนน์มาได้โดยการมอบให้ทั้งความรักและความเข้าใจ ถือว่าเป็นอะไรที่ประเสริฐมากจริง ๆ แล้วมันก็กลายเป็นคำอวยพรที่พวกเขาไม่เคยรู้ว่าตัวเองได้ร้องขอเอาไว้


ใครที่คุ้นหน้าป้ามาริลลา บอกเลยว่าก่อนป้ามาปวดประสาทกับแอนน์ ป้าเคยเลี้ยงเด็กชายแถว 221b baker street มาก่อน ดังนั้นแอนน์ตัวแค่นี้ป้ารับมือได้ ป้าไหวจริง ๆ ยังไหว

ชอบหน้าแมทธิวเวลายิ้มอย่างมีชัยมาก ๆ เป็นรอยยิ้มของคนหนุ่มที่โคตรมีชัย! อายุเป็นเพียงตัวเลขจริง ๆ

รักป้ามาริลกับลุงแมทธิวที่สุด


ช่วงหลายมาตรฐาน – อะไรคือสิ่งดีงามใน Anne with an E (ที่ควรดูอย่างที่สุด)

  • วิวดีมากกกกกก ล้านแปด เงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ถ้ายังไม่มีตังไปเห็นกับตัว เปิดแอนน์ดู ภาพสวย เรื่องดี
  • ตัวละครมีเสน่ห์ทุกตัวเลย นักแสดงเก่ง โปรดักชั่นงาม
  • รักป้ามาริลลากับลุงแมทธิวมากที่สุด น่ารักมากกกก ความชาวแก่ขึ้นคานเลี้ยงเด็ก …อยากโดนเลี้ยง

เปิดเผยเนื้อหาเล็กน้อยในซีซั่นสาม

เรื่องปมครอบครัวกาเกว็ต

เราเดาไว้ตรงนี้เลยว่ากาเกว็ตออกมาไม่ได้ เผลอๆ ตอนหลังพ่อกับแม่ที่ตั้งแคมป์อยู่จะโดนขับไล่ด้วย คือเรื่องมันก็เล่าให้เห็นแค่นั้นแล้วก็จบ ด้วยตัวซีรีย์ที่โดนหั่นจบด้วย ทั้งที่ยังมีอีกหลายรายละเอียดที่ยังไปต่อได้ มันก็เลยไม่มีบทสรุปต่อจากนั้น

สำหรับครอบครัวกาเกว็ต เรื่องราวมันก็สิ้นสุดตรงนั้นได้แล้วให้ไปคิดต่อเอาเอง หากมองตามประวัติศาสตร์จริง ๆ แล้วชะตากรรมของชนพื้นเมืองมันจบลงไม่สวยงามเท่าไหร่ ออกจะโหดร้ายเสียด้วยซ้ำไป ไม่แน่ใจว่าชนพื้นเมืองในแคนนาดาเจอหนักเท่ากันกับในอเมริกาไหม

เราว่ามันเป็นรายละเอียดที่ดีและเศร้าพอสมควรสำหรับซีรีย์เรื่องนี้ อย่างน้อยสิ่งหนึ่งคือการไม่พยายามบิดเบือนความจริงว่าตอนจบของทุกคนจะต้องดีและสวยงามเสมอไป แต่เขาเลือกนำเสนอความทุกข์ทรมานและความเศร้าของหนึ่งครอบครัว (ซึ่งเป็นตัวแทนให้อีกหลายครอบครัว) เมื่อมันอาจจะออกมาเลวร้ายก็หั่นท่อนจบไปโดยที่ไม่พูดอะไรอีก รู้กัน แล้วก็ค้างเติ่งในใจ 

ซึ่งในมุมหนึ่งมันก็โอเคแล้วนะ เหมือนการเดินทางของชีวิตแอนน์ที่เติบโตไปสู่ความจริงและมันไม่ได้จบลงที่ความสุขเสมอไป แต่ถ้าหากตัวซีรีย์กลับมาสร้างต่อได้ก็จะดีเหมือนกัน

ถ้าจะช่วยกาเกว็ตออกมาจริง ๆ ก็คงต้องช่วยเด็กชนพื้นเมืองคนอื่น ๆ ในศูนย์กักขังออกมาด้วย ไม่ใช่แค่กาเกว็ตคนเดียว ซึ่งมันก็อาจนำไปสู่เรื่องการต่อสู่เพื่อสิทธิของชาวชนพื้นเมืองในแดนาดาต่อไปได้อีกพร้อม ๆ กับการผจญภัยของแอนน์ในควีน 


Don't go to Sleep
แล้วเจอกัน

ช่วงเกร็ดที่พอจะรู้

  • สร้างจากหนังสือชุดเรื่อง Anne of Green Gables เขียนโดย L. M. Montgomery จำนวน 8 เล่ม
  • เคยมีเวอร์ชั่นหนังและซีรีย์มาก่อน หลายเวอร์ชั่น
  • ปัจจุบัน Anne with an E ถูกประกาศจบที่ ซีซัน 3 และประกาศยกเลิกซีซั่น 4 ทำให้เกิดเทรนด์ Save Anne with an E เพื่อให้เรื่องนี้ได้สร้างต่อ


ข้อมูลภาพยนตร์จาก IMDb
รายละเอียดอื่น ๆ
https://www.freshdaily.ca/culture/2020/01/anne-with-an-e-billboards/
https://www.newsweek.com/anne-e-season-4-will-there-another-season-netflix-cancelled-1480576

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น