บทความฝึกวิเคราะห์ Girls in Uniform (1958) ภาพสะท้อนของรูปแบบความรักในสังคมปิตาธิปไตย จะเป็นอย่างไรเมื่อสตรีกดขี่กันเอง? อย่าเพิ่งตัดสินว่ามันเป็นแค่หนังดราม่าและเต็มไปด้วยเรื่องราวประสาทแดกของผู้หญิง
Girls in Uniform เป็นหนังดราม่าและเต็มไปด้วยเรื่องราวประสาทแดกของผู้หญิง ในเวอร์ชั่น 1958 เป็นหนังสัญชาติฝรั่งเศส(+เยอรมัน) ที่ถูกสร้างจากหนังสือชื่อเดียวกัน เล่าถึงเรื่องราวของกลุ่มผู้หญิงและเด็กสาวซึ่งรวมตัวกันอยู่ในโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งในปรัสเซีย โดยไม่มีการปรากฏตัวของผู้ชายเลยตลอดทั้งเรื่อง
เรื่องย่อ Girls in Uniform
Girls in Uniform มีเนื้อความตามชื่อเรื่อง มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหล่าผู้หญิงในชุดยูนิฟอร์ม ณ โรงเรียนหญิงล้วน(ผู้ดี)แห่งหนึ่งในปรัสเซีย ช่วงปี 1910 ตัวเอกของเรื่องนี้ก็คือเด็กสาววัยแรกรุ่นที่เพิ่งสูญเสียแม่ไป ชื่อว่า “Manuela von Meinhardis” (ชื่ออ่านว่า ‘มานูเอล่า’ หรือจะเรียก ‘มานุยล่า’ ก็ได้ถ้าพูดแบบเร็ว ๆ) รับบทโดย Romy Schneider
Manuela ถูกคุณป้าซึ่งเป็นญาติฝั่งพ่อ พามาฝากทิ้งไว้ที่โรงเรียนประจำแสนเข้มงวดแห่งนี้ เพื่อหวังว่าจะสามารถขัดเจียรไน “เด็กสาวขี้อาย แม่ตาย เซนซิทีฟและกำลังเสียใจอย่างสุดซึ่ง” ให้กลายเป็นกุลสตรีผู้มีการศึกษาได้? ซึ่งที่นี่แหละที่เป็นต้นเหตุให้เธอได้พบกับคุณครูผู้แสนใจดีผู้ซึ่งเป็นที่รัก ที่คลั่งไคล้(?) ของเด็กนักเรียนชื่อ “Elisabeth von Bernburg” รับบทโดย Lilli Palmer จนนำไปสู่เรื่องราวความรักต้องห้าม โศกนาฏกรรม ดราม่าน้ำตาตกหรือจะเรียกอะไรก็ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะชิบหายตามมาในท้ายที่สุด คือความรักนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามนั่นเอง
อ่านเรื่องเล่าภาพยนตร์ฉบับสปอยแหลก สปอยลานได้ที่นี่
>>Girls in Uniform Story<<
เผื่อใครไม่ไม่สะดวกหาดูเพราะหนังเป็นภาษาเยอรมัน
Girls in Uniform 1958
ทันทีที่ Manuela เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนแห่งนี้ เธอก็ถูกพรากทุกอย่างไป ตั้งแต่เสื้อผ้า ขนม เงินในกระเป๋า ไดอารี่ ของใช้ส่วนตัวทุกอย่างถูกจัดลำดับและต้องถูกตรวจสอบ เธอต้องซ่อนน้ำตาและความรู้สึกของเธอไว้ภายใต้ชุดยูนิฟอร์มที่เธอต้องสวมใส่ จากนั้นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดที่เธอต้องเรียนรู้จากสถานที่แห่งนี้ คือการเชื่อฟังและอยู่ในกฎระเบียบ ซึ่งเป็นความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ได้รับการศึกษาที่ดี”
เมื่อ Manuela ได้พบ Ms. v. Bernburg ความสนใจต่อตัว Ms. v. Bernburg ก็ถูกก่อขึ้นจากความเศร้าของการสูญเสียแม่ ก่อนความรู้สึกจะยิ่งทบทวีคูณเมื่อเธอได้รับการปฎิบัติที่แตกต่างออกไปจากที่ครูคนอื่นปฏิบัติต่อเธอ เพราะในที่แห่งนี้นักเรียนทุกคนอยู่ในสถานะที่ไม่ต่างจากผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่านายทหารที่กำลังปกป้องมาตุภูมิ มีหน้าที่ปฏิบัติตาม เชื่อฟังและอยู่ในกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
“เธออยากให้ช่วยไหม”
“ฉันก็ไม่รู้”
Girls in Uniform, 1958
“Good Night Kiss” คือสิ่งที่นักเรียนทุกคนเฝ้าคอยราวกับปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นเฉพาะยามค่ำคืน Ms. v. Bernburg จะเข้ามา ดับไฟ ก่อนไล่จุมพิตที่หน้าผากและกล่าวราตรีสวัสดิ์กับเด็กสาวเหล่านั้นทีละคน พวกเธอทำมันอย่างเงียบ ๆ ในความมืดราวกับว่ามันเป็นกิจกรรมลับใต้ดิน ณ ที่ตรงนั้นเป็นครั้งแรกที่ Manuela ได้รับความรักและความเอาใจใส่หลังจากเธอสูญเสียแม่ไป
ในสังคมโรงเรียนที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างบิดเบี้ยวด้วยข้อห้ามและกฎระเบียบนั้น ทำให้หัวใจของเด็กสาวบิดเบี้ยวตาม มันทำให้ Manuela ตีค่าการกระทำอันหวังดีของ Ms. v. Bernburg เป็นความรัก ความปราถนาในอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งมันทำให้เธอก้าวล้ำเส้นของกฎเกณฑ์ออกไปอย่างไม่อาจหวนกลับ
ในท้ายที่สุดนั้นความรักของเด็กสาวได้กลายเป็นสิ่งต้องห้าม Manuela ถูกลงโทษสำหรับการกระทำที่ผิดกฎระเบียบ ซ้ำร้ายกฏที่ถูกสร้างขึ้นมายังแยก Ms. v. Bernburg ให้ต้องถอยห่างออกจากนักเรียนของเธอ หัวใจที่โศกเศร้าอีกครั้งของ Manuela และการถูกตีตัวออกห่างของ Ms. v. Bernburg ทำให้ Manuela ตัดสินใจที่จะจบชีวิตของตัวเองลงด้วยการพยายามกระโดดลงจากบันไดเพื่อความผิดนั้นจะได้เป็นของเธอแต่เพียงผู้เดียว
Ms. v. Bernburg และมือที่ยื่นเข้าไปช่วยเหลือจากเด็กสาวคนอื่น ๆ คือสิ่งที่ทำให้ Manuela รอดพ้นจากความตาย ก่อนที่ครูใหญ่จะเป็นคนยื่นมือเข้าไปด้วยในท้ายที่สุด ดุจสิ่งที่เธอควรได้รับมาตั้งแต่แรก
หากปราศจากความรู้สึกรักต่อกัน มนุษย์จะยังคงเป็นมนุษย์อยู่ไหม?
มีอะไรซ่อนหลังคำว่า
“รูปแบบความรักในสังคมปิตาธิปไตย”
ก่อนที่มันจะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ความรักเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ลื่นไหลมาก ๆ และสำหรับเรื่องนี้ก็เช่นกัน ความรักไม่ได้ถูกกล่าวถึงในแง่ของความสัมพันธ์เชิงชู้สาวเท่านั้นแต่ยังสามารถกล่าวถึงความเอื้อเฟื้อ ความเข้าใจ ความเอาใจใส่หรือในแง่อื่น ๆ ได้อีกด้วย
นี่คือสิ่งที่ Ms. v. Bernburg พยายามมอบให้กับนักเรียนของเธอและ Manuela ในฐานะครูและแม่คนที่สองของเหล่าเด็กสาว ซึ่งตรงกันข้ามกับกฎเกณฑ์หรืออะไรก็ตามในความคิดของครูใหญ่
กฎที่ถูกตั้งขึ้นมา บทเรียนทั้งหมดมันกำลังขัดเกลามนุษย์ให้กล้าเป็นเหล็กกล้า แทนที่จะขัดเกลามนุษย์ให้เป็นมนุษย์มีที่เลือดเนื้อ มีความรู้สึก เหมือนที่แม่บ้านในครัวได้เคยเอาไว้พูดว่า…
“ไม่มีมนุษย์คนไหนทนได้หรอกในบ้านหลังนี้
มีแต่พวกผู้ชายที่เป็นทองเหลืองเท่านั้น (หมายถึงรูปปั้น)
ที่เธอสามารถขัด (เกลา) แบบนั้นได้”
การต้องอดทนกับกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับโดยปราศจากความรัก ความเอื้อเฟื้อต่อกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ มันกำลังทำให้มนุษย์ตายทั้งเป็นอย่างช้า ๆ
หนึ่งหัวใจหลักที่ซ่อนไว้ในเรื่องนี้คือการพยายามเทียบเคียงการปั้นมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมากับวิธีการทางทหารที่ถูกสร้างให้ไร้ความรู้สึก ให้เป็น Mother of Soldier เชื่อฟังในคำสั่งและกลายเป็นเครื่องมือ
ในขณะที่ผู้ชายถูกสร้างให้ไปเป็นทหาร เป็นรั้วของชาติคอยปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนหรือ Fatherland (ในบริบทภาษาของเยอรมัน) ผู้หญิงก็กำลังถูกสร้างให้เป็น แม่ของเหล่าทหารเช่นกัน การถูกสอนเรื่องเด็ก ๆ ศีลธรรมและครัวเรือน
เด็กสาวเล่านั้นก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของตัวครูใหญ่เอง มันเกิดเป็นความหลายมาตรฐาน กดขี่สิทธิเสรีภาพ ละเมิดทุกสิ่งทุกอย่างของเด็กสาวและเมินเฉยต่ออารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน เพียงเพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในขอบเขตที่ตนเองต้องการ
ในหนังเลือกใช้คำว่า “Authoritative” ก็คือการมีอำนาจอย่างเผด็จการนั่นแหละ เด็กนักเรียนไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งจดหมายหากจดหมายนั้นไม่ถูกตรวจสอบก่อน ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้บันไดร่วมกับครูใหญ่ ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บของใช้ส่วนตัว เมื่อมีอาหารไม่เพียงพอก็ต้องทนหิวในขณะที่ครูใหญ่มีงบไปจัดงานเลี้ยงวันเกิดตัวเองหรือการถูกใช้ให้ทำงานหนัก ฯลฯ
ที่นี้พอมันเกิดความรักขึ้น ผ่านความสัมพันธ์ของ Manuela และ Ms. v. Bernburg ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม ความรักก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีแบบแผนและไม่สามารถควบคุมได้ดังเช่นเดิม
มันจึงกลายเป็นสิ่งผิดมหันต์ เป็นสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจเกรงกลัวเนื่องจากพวกเขาไม่เข้าใจในสิ่งนี้และไม่สามารถควบคุมมันได้ พวกเขาจึงต่อต้านมันและมองว่าเป็นสิ่งผิด ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามแบบแผนโดยไม่มีการผ่อนปรน
แต่เพราะความรักคือสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมอย่างนั้นเองมันจึงเป็นความรัก
หากปราศจากความรู้สึกรัก มนุษย์จะยังคงเป็นมนุษย์อยู่ไหม?
ในสังคมของ Girls in Uniform ที่มีกฎเกณฑ์บิดเบี้ยว สังคมที่ห้ามผู้คนมีความรู้สึกอันดีต่อกัน เอื้อเฟื้อกัน เมตตากัน เป็นมิตรและมีไมตรีต่อกัน เป็นสังคมที่ทำให้ความรักถูกตีค่าบิดเบือนไปจากสิ่งที่มันควรจะเป็น เป็นเพียงอารมณ์อ่อนไหวที่น่าเป็นห่วง ไม่ใช่แค่เฉพาะ Manuela แต่กับทุกคนรวมถึงผู้ที่ใช้อำนาจกดขี่มันด้วย
อารมณ์ที่อ่อนไหวเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความวุ่นวายและควบคุมไม่ได้
ซึ่งในท้ายที่สุดมันจึงได้ชักนำมนุษย์ไปสู่การพยายามปลดแอกตัวเองจากข้อจำกัดทั้งปวง ดังเช่นที่ Manuela ได้ตัดสินใจเลือกที่จะปลิดชีวิตตัวเองอันเป็นสัญลักษณ์ของการหลุดพ้นจากกฎเกณฑ์ การหนีจากเสื้อผ้าที่พวกเธอถูกสวมใส่
“มือ” คือสิ่งที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในเนื้อเรื่องเวอร์ชั่นนี้ จากต่างคนต่างสถานการณ์แต่ทั้งหมดล้วนกล่าวถึงความหมายเดียวกัน
ความหลากหลายในหมู่สตรี
ความสนุกของเรื่องนี้คือการพูดถึงผู้หญิงในหลายสถานะในสังคมของปรัสเซียหรือเยอรมันในยุคนั้น ซึ่งรวมก้อนกันอยู่ในโรงเรียนนี่แหละ ทั้งครูใหญ่หรือเหล่าชนชั้นปกครอง ครูคนอื่น ๆ ที่อยู่ใต่ปกครอง ครูที่เป็นชาวต่างชาติ เหล่าแม่บ้าน หัวหน้านักเรียนและเหล่านักเรียนคนอื่น ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายในหมู่สตรี
ความขำขันในความจุกจิกหยุมหยิมของทุกตัวละครและการเม้าท์มอยหอยสังข์นั่งบ่นของของผู้หญิงทุกคนที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง มันเป็นทั้งความน่ารักและเรื่องตลกร้ายไปพร้อม ๆ กัน เมื่อทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่….ไม่มีใครรู้
มีบทสนทนาขำขันน่ารัก ๆ จากการจับกลุ่มเม้าท์คนข้างบนของเหล่าแม่บ้านแม่ครัว ที่คอยบรรยายสถานการณ์ปัจจุบันของเรื่องคลอไปในตัวราวกับคอรัสในละครเวทียุคกรีกโบราณ ซึ่งมันเต็มไปด้วยความตลกที่น่าสนใจ
มีความโก๊ะของเหล่านักเรียน การทะเลาะกับหัวหน้าห้อง แลบลิ้นปลิ้นตา หยอกล้อท้าทายอำนาจ น้ำตาจากช่วงเวลา Puppy Love หรือรสนิยมที่ไม่ตรงกันกับตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ
ตัวละครที่เป็นหัวขบถเด่น ๆ ในเวอร์ชั่นนี้มีสองตัวและน่ารักทั้งคู่ พวกนางมีความ …ชิพกับเดลคือสองพี่น้อง ขายของในคลองมีแต่ของดี ๆ มีการหยอกหารปะทะคารมกันเสมอ ๆ คือ Ilse von Westhagen และตามมาด้วยลูกคู่ Wolzogan ที่ชอบทำหน้ามึน ๆ และคอยปั่นประสาท Westhagen ว่าชีวิตมันยากนะ ไหวหรอ?
ที่ต้องพูดถึงเพราะน่ารักจริง ๆ ความเด็กส๊าว…เด็กสาว ที่ขบถด้วยวิธีแบบเด็กสาว การพยายามที่จะกล้าด้วยความกล้าแบบเด็กสาว พวกเธอแก่นและกำลังถึงจุดหนึ่งที่กำลังถูกกล่อมว่าต้องเป็นเด็กดีนะ(?) สุดท้ายก็ถูกจัดอยู่ในกรอบ
นอร่าแห่งบ้านตุ๊กตา
ตัวละครหญิงแทบทุกตัวในเรื่องนี้เหมือนเป็นตัวแทนและชวนให้นึกถึง “นอร่า” ใน “บ้านตุ๊กตา” ของเฮนริค อิ๊บเซ่น (Henrik Ibsen)* เวอร์ชั่นยังไม่ปีกกล้าขาแข็งพอที่จะปิดประตูเพราะยังเยาว์
ทุกคนเลยแอบทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำเช่น การแอบปักชื่อ EvB (ชื่อย่อของ Ms. v. Bernburg) ไว้ด้านในของชุดนักเรียน, การแอบซ่อนรูปผู้ชายไว้หลังภาพตบตาในล็อกเกอร์, การแอบเขียนจดหมายทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันผิดกฎ, การล้อเลียนโดยการดัดแปลงคำพูดและบทเพลงหรือแอบด่าลับหลังและอื่น ๆ อีกมากมายเท่าที่จะสามารถทำได้
ทั้งหมดเพื่อปลดแอกตัวเองไปสู่ช่วงเวลาที่จะสัมผัสได้ถึงอิสระ การได้ปลดเปลื้องชุดยูนิฟอร์มนั้นออกแล้วกลับไปเป็นมนุษย์
Manuela คือคนที่ดูใกล้เคียงกับนอร่ามากที่สุด (ด้วยเอ็นเนอจี้ของเด็กใหม่ที่ต้องเข้ามาเจอกับความ “อิหยังวะ”) ในตอนที่พยายามที่จะปลดแอกตัวเองด้วยการปลิดชีวิตหรือการประกาศออกมาว่า
“ฉันไม่กลัวใครอีกต่อไปแล้ว”
มันขับเคลื่อนเด็กสาวที่เหลือทุกคนในเรื่องให้กล้าที่จะปลดแอกตัวเองออกมา ทำลายกฎเกณฑ์คร่ำครึที่คอยกดขี่พวกเธอไว้ ออกมาวิ่งในทางเดินทั้งชุดนอนเพื่อตามหาตัว Manuela
ตะโกนโหวกเหวกเสียงดังหรือแม้แต่ลั่นระฆังที่ไม่ได้รับอนุญาต ถ้านี่ไม่ใช่เพราะการแสดงออกของความรัก ความห่วงใยที่มีต่อกันในฐานะมนุษย์ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแล้ว ดังนั้นฉากนี้จึงเป็นเสียงปิดประตูของ Girls in Uniform ที่ดังจริง ๆ …แบบไม่ได้อุปมาอุปไม
สุดท้ายทุกสิ่งเหล่านั้นจะกลับมาวนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์เหมือนกับความวกวนของบันไดในเรื่องไหม?
นั่นเป็นคำถามที่ชวนให้ขบคิดจากหนัง
“ฉันสอนลูก เหมือนที่แม่ฉันเคยสอนฉัน”
แขกคนหนึ่งของครูใหญ่ในงานเลี้ยงวันเกิด
ตัวละคร Ms. v. Bernburg คือหนึ่งคนที่เลือกจะยืนหยัดอยู่ที่บ้านแห่งนี้ (โรงเรียนนั่นแหละ) เพื่อที่จะทำตามปณิธานของเธอคือการปกป้องเด็กนักเรียนของเธอจากการเผชิญโศกนาฏกรรมน่าเศร้านี้ตามลำพัง หลังจากเหตุการณ์น่าเศร้าที่เธอเคยเผชิญมาในอดีต
แม้ว่าเธอจะรู้ตัวว่าตนเองไม่เหมาะที่จะอยู่ในที่แห่งนี้และไม่มีความสุขเท่าไรก็ตาม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงดีกับเด็กนักเรียนของเธอเหลือเกินและมุ่งมั่นที่จะอยู่ที่นี่เพื่อเด็กทุกคน
การกระทำของ Ms. v. Bernburg ถือเป็นหนึ่งในการกระทำที่เปี่ยมไปด้วยความรักที่กล้าหาญที่สุดในเรื่องที่พยายามจะยืนหยัดเพื่อเด็กผู้หญิงท่ามกลางคำครหา ซึ่งมันถูกแสดงตรงข้ามกับเหล่าพ่อแม่ของเด็กสาวทุกคนที่ส่งลูกมาเรียนที่นี่หรือแม้แต่เหล่าครูท่านอื่น โดยเฉพาะครูใหญ่
นั่นคือสิ่งที่น่าสนใจ มีตัวละครหลายตัวมากที่สะท้อนภาพของวงจรอุบาทว์นี้ออกมา
- ครูใหญ่ ที่ต้องการยึดเหนี่ยวอำนาจไว้ในมือและพยายามมากเกินไปที่จะควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในที่ทางอย่างไม่ผ่อนปรน หลักการของโรงเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ดำเนินมาดีอยู่แล้วและต้องเป็นต่อไป
- Ms. v. Racket ที่มีความกระสันเหลือเกินที่จะดำเนินรอยตามครูใหญ่
- Madame Aubert ที่เห็นว่าผู้หญิงมีหน้าที่มาศึกษาเพื่อจะได้ไปรับใช้ผู้ชายนั่นโอเคแล้ว
- Marga von Rackow หัวหน้านักเรียนที่ยึดมั่นในหน้าที่และทำตามกฎเกณฑ์ ถืออำนาจเหนือเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ซึ่งเดาได้เลยว่าอนาคตคงโตไปเป็นลูกสาวครูใหญ่แน่ ๆ
- Alexandra von Treskow ที่อิจฉา Manuela จึงใช้กฎเกณฑ์นั้นมาเล่นงานนักเรียนด้วยกันเองอย่างไม่ยั้งคิดหรือการข่มขู่ด้วยความกลัว แต่ตัวนี้เป็นตัวละครที่น่าสงสารอยู่เหมือนกันเพราะทำไปโดยไม่รู้ตัว
- หรือเหล่าแม่บ้านแม่ครัวที่ส่วนใหญ่แล้วเห็นพ้องกันว่า อยู่เงียบ ๆ จะดีกว่า ไม่เช่นนั้นความซวยก็จะมาเยือน
ไม่เว้นแม้แต่ Westhagen กับ Wolzogan ที่พวกเธอพยายามจะขบถมาตลอดทั้งเรื่อง แต่เมื่อมีโอกาสที่พวกเธอจะได้พูดมันออกมา พวกเธอกลับกลัวแล้วเลือกที่จะเงียบไปเพราะความกลัว
สองคนนี้เป็นคู่หูหัวขบถที่เป็นตัวแทนของสองสิ่งที่ต่างกัน Westhagen คือคนที่พยายามทำแล้ว แต่ไม่กล้า Wolzogan คือคนที่อยู่เงียบ ๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่น ซึ่งก็กลายเป็นว่าตัวเองไม่ทำอะไรเลยและหากเป็นอย่างนั้น เมื่อเวลาของเด็กสาวผ่านไปสู่การเป็นกุลสตรี ทั้งคู่อาจจะค่อย ๆ จำยอมต่ออำนาจและไร้เสียงพูดตลอดไปก็ได้
มันสะท้อนวงจรอุบาทว์ของความหวาดกลัว
ความกลัวคือกฏเกณฑ์ที่กีดกั้นเราไว้ตรงบันไดไม่ให้เราก้าวขึ้นไปถึงข้างบน
นี่จึงเป็นภาพที่ชัดเจนของเหล่าสตรีที่ต้องกดขี่กันเองในโรงเรียนแห่งนี้
แต่เห้ย….
กฎระเบียบก็เป็นเรื่องสำคัญนะ จะตำหนิคนคุมกฎแบบนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่มีกฎระเบียบ ไม่มีหัวหน้าห้องแบบ Rackow เด็กผู้หญิงพวกนี้คงใส่ชุดนอนออกมาวิ่งส่งเสียงเอ็ดตะโรตรงทางเดินกันทุกคืนแน่ (ใช่ทุกวันนี้เป็นแบบนั้น)
ถูกต้อง มันจึงต้องมี Ms. v. Bernburg ขึ้นมาไง สำหรับเรื่องนี้ เพื่อที่จะบอกว่า
“อำนาจและความเป็นมิตรคือสองสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันได้”
เราไม่จำเป็นต้องเข้าหาและปฏิบัติต่อกันอย่างไร้หัวใจ เธอจึงเป็นครูในแบบที่เธอคิดว่าควรจะเป็น เข้มงวดบ้างเป็นบางครั้งและรู้จักผ่อนปรนเป็นบางที เป็นการอยู่ด้วยกันในความสัมพันธ์แบบเป็นมิตร ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปในทันทีทันใด แต่มันก็ช่วยให้ชีวิตแสนเศร้าของเด็กสาวในบ้านหลังนี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกนิด
Nor am I out of it
แล้วเจอกัน
*** บทละครเรื่องบ้านตุ๊กตา ของเฮนริค อิ๊บเซ่น (Henrik Ibsen) เป็นบทละครที่เล่าถึงชะตากรรมของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เป็นบทละครที่มีบทบาทสำคัญในการการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรี ในช่วงปลายศ.19 เสียงปิดประตูของนอร่า เป็นเสียงที่ปลุกผู้หญิงทุกคนในยุคนั้นให้ตื่นขึ้น
ข้อมูลภาพยนตร์และภาพโปสเตอร์จาก IMDb
บทความที่เกี่ยวข้อง: ความเย็นชากับการเลี้ยงลูกแบบนาซี The MATTER
0 ความคิดเห็น