ตีต่อ Kaiji: The Ultimate Gambler (2009) เกมของใคร?

หลากเรื่องของ The Phantom of the Opera

วิเคราะห์และตีแผ่ปมปัญหาใน Kaiji: The Ultimate Gambler (2009) หรือไคจิ กลโกงมรณะ …ภาพการดิ้นรนของคนจนที่เป็นเพียงเกมบันเทิงของคนรวย กลุ่มทุนนิยมที่ไม่ยุติธรรมกับการเอารัดเอาเปรียบชนกลุ่มแรงงาน …ทาสจนตาย

เป็นเรื่องของไคจิ ผู้ชายจืด ๆ คนหนึ่งในสังคมญี่ปุ่นที่ชอบเล่นเกมเสี่ยงดวง (เหมือนชาวเราที่ชอบเล่นหวย) ได้เอาชื่อไปค้ำประกันกู้ยืมให้เพื่อนกับบริษัทเงินกู้หน้าเลือดแห่งหนึ่งที่ฉาบหน้าว่าเป็น “คนดี” สุดท้ายเพื่อนเบี้ยวหนี้ ไคจิก็โดนเต็ม ๆ มีทางเลือกให้ไปเล่นเกมเสี่ยงดวงบนเรือหรูหรือใช้หนี้มา ถ้าชนะจะได้เงินมาคืนหนี้ ถ้าแพ้ก็จะถูกจับไปเป็นทาสใต้ดิน

เป็นกติกาที่โหดมาก

สิ่งดีงามของเรื่องนี้หรอคะ?
คือ “อามามิ ยูกิ” ค่ะ 555
และพระเอกเรื่องนี้ก็คือ ทัตสึยะ ฟูจิวาระ คนที่เล่นเป็นไลท์ใน Death Note นั่นแหละ รับประกันฝีมือ ทั้งอามามิและทัตสึยะ


ภาพสะท้อนของเกมมรณะ

ตัวเรื่องสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมได้ดำดิ่งมาก ถึงแม้ในเรื่องจะดูเกินจริงไปหน่อยตามประสาความเล่นใหญ่ เล่นชัดแบบมังงะญี่ปุ่นแต่สิ่งที่เรื่องนี้สื่อออกมา เรียกได้ว่าไม่เกินจริงเลย ไม่ต่างจากที่เราเห็นใน “ชนชั้นปรสิต” แตกต่างกับที่ concept การนำเสนอของเรื่องนี้มันเป็น “เกม”

เรื่องนี้มันเผยให้เห็นโครงสร้างตั้งแต่ชนชั้นรากหญ้า กรรมกร กลุ่มคนที่เป็นมดงาน รากฐานของทุกอย่างแต่ไร้ซึ่งชื่อไปจนถึงหัวเรือใหญ่ที่เป็นเหมือนราชาของทุกสรรพสิ่ง อยู่เหนือสุดของห่วงโซ่ทุนนิยม จากการใช้แรงงานชนรากหญ้านั่นแหละ ด้วยอำนาจเดียวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ “เงิน”

เราจะเห็นภาพของแรงงานที่ทำงานหนักจนตัวตายโดยไม่มีวันได้ลืมหูลืมตาเพื่อให้ชนให้ชนชั้นบนอยู่สบาย แรงงานเหล่านั้นได้กินแต่อาหารแย่ ๆ เพราะความจน ความไม่มีจะกิน สุดท้ายก็ป่วย เสียสุขภาพไปตามระเบียบ ยิ่งกว่านั้นระบบดูแลสุขภาพที่ทำได้แค่ปล่อยให้นอนตาย เพราะไม่มีเงินมาจ่ายค่ารักษาค่ายา

ป่วย>ทำงานไม่ได้>ไม่มีเงิน>ไม่มียา ไม่มีหมอ>ป่วยต่อไป>ตาย

เงินที่ได้มาก็ไม่ต่างจากเศษกระดาษไร้ค่า ไร้ความหมาย เป็นเพียงสิ่งที่ชนชั้นที่สูงกว่าสมมุติขึ้น แต่เป็นสิ่งเดียวที่ชีวิตแรงงานเหล่านี้จะยึดถือสำคัญยิ่งชีวิตได้ มันคือความหวัง ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่ชนชั้นสูงกว่าป้อนให้ว่า

“ถ้าขยันทำงานหนัก ก็จะมีเงินมากแล้วเดี๋ยวก็จะสบาย”

ซึ่งในความเป็นจริงนั้น…ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ด้วยระบบที่กดขี่และเอารัดเอาเปรียบแรงงานเหล่านั้น จะไม่มีวันที่รากหญ้าได้ลืมหูลืมตา อย่างมากก็แค่ทำงานจนตายและตายอยู่ในหลุมนั่นต่อไป

ไคจิพระเอกของเรื่องนี้ก็เลยพยายามจะไถ่ตัวเองออกมาด้วยการเล่นเกม(ไม่ต่างจากการเสี่ยงดวงเท่าไหร่) เพียงแต่ผลของการแพ้ก็คือความตาย ถ้าชนะก็จะเป็นอิสระพร้อมกับเงิน
ในขณะที่นายทุนผู้ร่ำรวยนั่งลงเงินหลายล้านพนันความเป็นความตายของคนจนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ซึ่งปลอดภัยที่สุด โดยไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย

ทำนาบนหลังคนโดยแท้

เกมสุดท้ายที่พระเอกเล่นก็คือเกมการ์ดพระราชากับทาสโดยคอนเซปของมันคือพระราชาจะมีโอกาสชนะมากกว่าคือ 4ใน5 เพราะพระราชามีต้นทุนมากกว่า ในขณะที่ทาสจะมีโอกาสชนะแค่ 1ใน5 เท่านั้นก็เรียกได้ว่าเป็นเกมที่จำลองมาจากความเป็นจริงเลยนั่นเอง ประโยคเด็ดของเกมนี้คือ “ทาสที่ไม่มีอะไรจะเสีย จึงพร้อมเข้าสู้อย่างสุดตัว” ซึ่งไม่ต่างจากพระเอกของเรานั่นเอง


ประสบการณ์การดู

ตอนเราดูเรื่องนี้ครั้งแรก (ยังเด็กพอสมควร) เราคิดว่ามันล้อกับสังคมญี่ปุ่นเพราะวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่น เขาทำงานกันจนตัวตายแบบถวายชีวิต แต่ก็มีระบบหรือความกดดันที่มันกดขี่เหล่ามนุษย์เงินเดือนในสังคมเอาไว้ จนกระทั่งมาถึงวันนี้ ตอนที่เรามองย้อนกลับมาในบ้านของเราเอง ตอนที่เราประสีประสามากขึ้น ภาพในหนังเรื่องนี้มันก็ไม่ใช่แค่สังคมญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่เราเห็นสิ่งนี้มันเกิดขึ้นจริง ๆ อยู่ตรงหน้าเราจริง ๆ

แล้วคู่ปรับพระเอกก็จะมีอยู่คนหนึ่งที่ไม่ถึงกับเป็นอีลีท แต่ประหนึ่งว่าเป็นชนชั้นกลางออกมาด่าว่า “เนี่ย เพราะพวกแกตอนมีชีวิตข้างนอกอยู่ก็ไม่พยายามกันเอง มัวแต่งอมืองอเท้าไปวัน ๆ มาถึงวันนี้เป็นโอกาสให้สู้แล้วก็ยังจะขี้แพ้อีก” ด่าให้ลุกขึ้นมาสู้ อะไรประมาณเนี่ย เพิ่งเข้าใจก็ตอนนี้แหละ ตอนที่เห็นคนพูดแบบจริง ๆ ในสังคม ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็มีชีวิตและปัญหาที่แตกต่างกัน มันไม่ใช่สิ่งที่จะเอาไปตัดสินกันได้เลยโดยเฉพาะในโครงสร้างที่มันบิดเบี้ยวแบบนั้น

มันน่าเศร้าเนอะ งานใช้แรงงานราคาถูกไม่มีใครอยากทำ คนที่ทำคือคนที่ไม่มีทางเลือก คนมีอันจะกินบางคนบ่นว่าคนจนไม่ขยัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการแรงงานที่มีราคาถูก ด้อยมูลค่ามันลงเพื่อเงินในกระเป๋าตัวเอง แล้วถามว่าใครทำ ก็กลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ถีบตัวเองนั่นแหละ <<นี่คืออีกสิ่งที่เห็นจากเรื่องนี้จริง ๆ ระบบทุนนิยมที่เอารัดเอาเปรียบนั้นมันน่ากลัวจริง ๆ

สุดท้ายแล้วชีวิตเรานั้นเป็นเกมที่ต่อสู้เพื่อมีชีวิตรอดไปวัน ๆ เท่านั้นหรอ ไปถามไคจิได้ ไคจิจะตอบว่า …ใช่ 5555 มุกๆ

เป็นกำลังใจให้ทุกคนในช่วงวิกฤตนี้

We're square. Nothing owed, nothing left to say
แล้วเจอกัน

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น