ไม่มีคำถามใดๆ ทั้งสิ้นว่าควรตัดสิน Lydia Tár อย่างไร ไม่มีพลิวิลเลจ ไม่มีความงาม ไม่มีอำนาจยิ่งใหญ่มาค้านหักล้างกัน แม้จริงอยู่ที่ Cate Blanchett จะหล่อมากในบทนี้แต่…คนเหี้ยก็คือคนเหี้ยอยู่วันยังค่ำ (ขออภัยในความหยาบโลน)
TÁR (2022) ผลงานกำกับของ Todd Field ที่เล่าเรื่องราวของวาทยกรหญิงแนวหน้าท่านหนึ่งชื่อ Lydia Tár ผู้คว้ารางวัลจากเวทีใหญ่มาแล้วทิ้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น Emmy, Grammy, Oscar และ Tony ที่เรียกว่า EGOT แต่ความยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงในวงการดนตรีคลาสสิกก็ไม่สามารถทำให้ Lydia Tár กลายเป็นเทพที่ไร้ตำหนิ
ผู้สร้าง ผลงาน และวัฒนธรรมของการคว่ำบาตรใน TÁR
การที่ตัวละคร Lydia Tár ถูกแสดงโดย Cate Blanchett เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวละครนี้ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของความงาม ช่วยให้ผู้ชมเห็นภาพลักษณ์ที่สวยงาม น่าดึงดูดและเย้ายวนของตัวละคร ขณะเดียวกันก็ยังเป็นผู้มีชื่อเสียง มีฝีมือโดดเด่น รวมทั้งหมดเป็นไปตามมายาคติว่าภาพลักษณ์ที่ดี คนเก่ง มักต้องเป็นคนดี
แต่ในไม่ช้า TÁR ก็ท้าทายมายาคตินั้นด้วยการพาไปสำรวจให้เห็นชีวิตของ Lydia Tár ซึ่งเป็นภาพของบุคคลที่มีการกระทำน่ารังเกียจหลายอย่างขัดกับภาพลักษณ์ภายนอก อาทิเช่นการไม่ซื่อสัตย์ การใช้อำนาจในทางมิชอบ ฯลฯ สวนทางกับความสามารถจนผู้ชมไม่อาจรู้สึกชื่นชมหรือรู้สึกรักตัวละครนี้ได้อีกต่อไป
ขณะเดียวกันก็ยังตั้งข้อกังขาถึงโลกดนตรีคลาสสิกที่สงวนไว้, สมาทานความยิ่งใหญ่, ว่ายวนอยู่กับการเชิดชูผลงานของนักประพันธ์ชาย(ผิวขาว)กลุ่มเดิมที่ไม่เคยถูกชำระล้าง มากกว่าการเปิดกว้างให้นักประพันธ์เพศอื่น เชื้อชาติอื่น นักประพันธ์ยุคใหม่กับผลงานใหม่ๆ ที่อาจถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างเช่นตอนจบของ TÁR
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของหนังคือการไม่ได้พูดหรือแสดงออกให้เห็นถึงความเลวระยำตำบอนของตัวละครอย่างตรงไปตรงมา กลับซุกซ่อนไว้ในการกระทำเล็กๆ และด้วยการเอ่ยอ้างถึงเศษซากของการกระทำในอดีต ไม่มีภาพหรือเนื้อหาที่ดูรุนแรงบาดตาให้เห็นประจักษ์ชัด (ไปมากกว่าการที่ใครสักคนลงจากโพเดี้ยมด้วยความเร็วสูง) แต่ถึงอย่างนั้นผู้ชมก็ยังคงรับรู้ถึงวีรกรรมของ Lydia Tár ได้อย่างชัดแจ้งตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “วาทยกรผู้มีฝีมือเก่งฉกาจคนนี้ อาจไม่ใช่ผู้ที่น่าชื่นชมเท่าไรนัก”
ความเบาบางของการกระทำที่แสดงให้เห็นในหนังนั้นยังเป็นการยกเวทีให้ผู้ชมเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าแม้เราจะไม่เห็นภาพของความรุนแรงใดๆ ของ Lydia Tár แต่เราจะยังมองและตัดสินตัวละครนี้เป็นอย่างไร เราจะยังคงสนับสนุนคนแบบนี้ได้อยู่หรือไม่ ควรให้พื้นที่บุคคลเช่นนี้อยู่อีกไหม? หรือยังมีบุคคลอื่นอีกมากมายที่ควรค่ากว่ารอรับการชื่นชมนั้นอยู่ พื้นที่บนโพเดี้ยมควรเป็นของคนแบบไหนบ้าง
จริงอยู่ที่ Cancel Culture ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหยุดพูดถึงได้ง่าย ๆ เมื่อสังคมในปัจจุบันยังคงมีการวิพากษ์ระหว่าง ‘ตัวตนของผู้สร้าง’ กับ ‘ผลงาน’ ให้ตามไปถกเถียงหรือตื่นรู้กันอยู่เนืองๆ อย่างเช่นการที่หนังยกตัวอย่างกรณีของ JS Bach ขึ้นมาในตอนต้นเรื่อง หรือหลายประเด็นในชีวิตจริงที่ผู้กระทำผิดยังได้รับคำชื่นชม แต่กระนั้น Tár ก็ได้ชี้ให้เห็นแง่มุมที่แตกต่างออกไปด้วยจุดที่เด่นชัดอย่างหนึ่งเช่น เพศของตัวละครที่เป็นผู้ชายในคราบของผู้หญิง
Lydia Tár, Toxic Masculinity และความชาชิน
Lydia Tár เป็นทั้งผู้หญิงผิวขาวและเป็นเลสเบี้ยน ในแง่หนึ่งตอกย้ำให้ผู้ชมเห็นว่าเลสเบี้ยนหรือกลุ่มคน LQBTQ+ มีอยู่ได้ทุกที่ เป็นได้ทุกสถานะเหมือนบุคคลตรงเพศทั่วไปไม่ใช่ความแปลกประหลาดหรือพิเศษอะไร ทั้งยังมีผิดได้ ถูกได้ วิจารณ์ได้ แต่ในขณะเดียวกันการให้ Lydia Tár เป็นผู้หญิงเลสเบี้ยนแทนการเป็นผู้ชายผิวขาว(ที่เห็นอยู่เป็นประจำ) ก็ได้สร้างไดนามิกที่แตกต่างกันอย่างมากต่อเรื่องราวและต่อการตั้งคำถามกับผู้ชม
แน่นอนว่านั่นทำให้เรื่องนี้น่าสนใจขึ้น แต่…เพราะทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกภาพยนตร์ เราต่าง ‘ชาชิน’ กับความเลวระยำในการใช้อำนาจมิชอบของเพศชาย(ที่เลวระยำ)ไปเสียแล้ว เราเห็นบ่อยมากจนชาชิน ชาชินมากเสียจนบ่อยครั้งก็ไม่มีใครคิดจะทำอะไรกับมัน กลับมองเห็นเป็นสิ่งปกติทั่วไป ยอมรับได้ มีอยู่และจะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน Lydia Tár ก็เป็นผู้หญิงที่สมาทานความเป็นชายไว้ครบทุกด้านไม่เว้นแม้กระทั่งด้านที่ไม่ดี ทำให้เธอกลายเป็นตัวแทนว่า toxic masculinity สามารถมีอยู่ได้ในทุกเพศไม่ใช่แค่เฉพาะเพศชาย และเมื่อเป็นผู้หญิงก็ยิ่งช่วยให้การเข้าหาผู้หญิงของ Lydia Tár เป็นภาพที่ดูน่ารังเกียจน้อยกว่าการเห็นตัวละครเพศชายเป็นผู้กระทำจนอาจไม่ทันสังเกตเห็นความเลวระยำของตัวละครที่ไม่ได้ต่างกันเลยนั่นเอง
เหล่านี้เน้นย้ำว่าการเลือกใช้บทบาทและอำนาจที่มิชอบของ Lydia Tár เป็นสิ่งที่ไม่ว่าเพศใดกระทำก็ล้วนเลวระยำเหมือนกันทั้งสิ้น นั่นจึงตั้งคำถามต่อไปได้อีกว่าการเป็นผู้หญิงเลสเบี้ยนที่ประสบความสำเร็จในแวดวงอาชีพที่เชิดชูผู้ชายมาตลอดนั้นทำให้เธอมีสถานะทัดเทียมกับการเป็นผู้ชายหรือไม่ และวิธีการที่เธอถูกปฏิบัติในตอนท้ายนั้นจะเหมือนหรือต่างออกไปไหมหากเธอเป็นผู้ชาย
Cate Blanchett และบทบาทที่ไร้ข้อกังขา
Cate Blanchett ถ่ายทอดตัวละคร Lydia Tár ออกมาได้ดีมากสำหรับเรา ในฐานะผู้ชมเราได้ซึมซับชีวิตและตัวตนของ Lydia Tár ในหลายมิติ ความเป็นคนเก่งที่ยโส การถืออภิสิทธิ์ ความมั่นอกมั่นใจที่ออกนอกหน้า ความดูดีที่น่ารังเกียจ ทั้งหมดมันเล็กน้อยแต่ก็ถูกสังเกตเห็น
แรกเริ่มไม่คิดว่าจะสามารถเกลียด Lydia Tár ได้มากขนาดนี้ แต่มันก็เกิดขึ้น Cate Blanchett กลับทำให้ตัวละครนี้ไปสุด แสดงให้เห็นความจริงและสามารถตะโกนก่นด่าตัวละครนี้ออกมาได้อย่างเต็มปากเต็มคำ Cate Blanchett ทำให้ Lydia Tár มีตัวตนขึ้นมาได้จริงๆ นี่เป็นบทพิสูจน์ฝีมือว่า Cate Blanchett สมควรได้ออสการ์ตัวที่ 3 อย่างไร้ข้อกังขา
ส่วนตัว TÁR เป็นหนังที่ให้ทั้งความสะใจและชักชวนให้เข้าไปมองผ่านสิ่งละอันพันละน้อย สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังแตกต่างจากความเป็นจริงคือการที่เราได้เข้าไปสำรวจแง่มุมชีวิตของ Lydia Tár แบบที่เกินกว่าชีวิตจริงจะทำได้ และอาจกล่าวได้ว่าถ้าหนังไม่ได้ชื่อ TÁR ก็คงเป็น Tármalink (หยอกๆ)
ราตรีสวัสดิ์ ชาวค่าย
0 ความคิดเห็น