‘ถ้าเงินเป็นล้านบาทใส่ลังมาม่า มากองตรงหน้าคุณฟรี ๆ เป็นคุณ คุณเอาป่ะ?’ แม้จะมีชื่อโชว์หราว่าเป็นเรื่องตลก แต่เรื่องตลก 69 ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่ทำให้เราไม่แน่ใจว่าควรตลกไหม?
ออกตัวไว้ก่อนว่าอาจเขียนได้ไม่ครบทุกประเด็น ทุกกระบวนความ (เก็บไว้ไปนั่งดูกันเองบ้าง) แต่จะเขียนให้มากสุดจากเท่าที่ทำได้ ยังจำได้และขออารัมภบทหน่อย
เราจำครั้งแรกตอนดูเรื่องตลก 69 ได้ สมัยนั้นอยู่ประมาณม.1 อันที่จริงจำไม่ได้หรอกว่าอายุเท่าไหร่ แต่รู้ว่าเราดูเรื่องนี้เพราะ ‘หมิว ลลิตา’ และทำให้เรารู้จักชื่อ ‘เป็นเอก รัตนเรือง’ เป็นครั้งแรก ด้วยวัยเท่านั้นเรื่องตลก 69 คือความแปลกใหม่ ความตระการตาและความสับสนงงงวย ซึ่งทำให้เรื่องตลก 69 กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ชื่นชอบที่สุดตลอดกาลไปแบบไม่ได้ตั้งใจ …คือตั้งใจจะเข้าไปดูดาราเฉย ๆ ไง
ในตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเรื่องนี้พูดถึงอะไรบ้าง เรารู้เพียงว่าเรื่องนี้สนุก ด้วยเนื้อเรื่อง สถานการณ์และตัวละคร สนุกแบบที่เราไม่เคยได้พบเจอมาก่อน สมองเรามันแบบว่า “มีหนังแบบนี้ด้วยเหรอ?” และคงเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องในจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราหลงมนต์เสน่ห์ในโลกภาพยนตร์ ….. “ดีใจ ที่อย่างน้อยหนึ่งในนั้นก็เป็นหนังไทยค่ะ”
เรื่องตลก 69
เรื่องตลก 69 มีตัวละครมากมายปรากฏขึ้นในเรื่องนี้ สาวตกงาน คนแก่ เพื่อนบ้าน ตำรวจ เพื่อนสาวผัวซ้อม เจ้าของค่ายมวย นักเลง ผู้มีอิทธิพล คนโดนใช้ มากกว่าครึ่งของที่กล่าวมานี้มีจุดจบอยู่ที่ห้องหมายเลข 6 ที่ทำตัวตลกเป็นเลข 9
เรื่องราวคร่าว ๆ เกี่ยวกับพนักงานหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ “ตุ้ม” เปิดเรื่องมาตุ้มก็กลายเป็นพนักงานที่ถูกลอยแพในช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำแทบทันที เธอตกงาน ไม่มีเงินและคิดฆ่าตัวตาย แต่แล้ววันหนึ่งเราก็ตื่นขึ้นมาพบลังมาม่าหมูสับถูกทิ้งไว้หน้าห้องของเธอ แทนที่จะเปิดลังมาพบกับอาหารที่ช่วยประทังชีวิตเธอไปอีกหลายมื้อ แต่เธอกลับพบเงินเป็นล้านอยู่ในนั้น เป็นคุณ คุณจะทำยังไง? เมื่อลาภลอยมาตกหน้าห้องเธอจึงตั้งใจเก็บมันไว้เอง ซึ่งเงินถูกเอามาวางไว้ที่หน้าห้องของเธอเพราะป้ายหน้าห้องเลข 6 มันหลุดไปเป็นเลข 9 ความตลกร้ายของสถานการณ์ทั้งหมดจึงเริ่มต้นขึ้นที่ตรงนี้
เป็นสถานการณ์ที่ปั่นป่วนใช้ได้ ด้วยคนเยอะ เรื่องแยะ ตัวละครหลายฝ่าย วุ่นวายกันไปมาจับความกันไม่ถูก พอเมื่อโตขึ้น เราจึงเริ่มเข้าใจอย่างช้า ๆ ว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ปรากฏแอบแฝงอยู่ในเรื่องตลกเรื่องนี้นอกเหนือจากความสนุก อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่สิ่งแรกที่เด่นชัดที่สุดคงไม่พ้นความยากจนและเศรษฐกิจอันเป็นเหตุจูงใจของเรื่องทั้งหมด เงินและอำนาจที่ดลบันดาลให้เกิดบางสิ่งได้ (เงินในลังมาม่า) และเมื่อถอยออกมามองเห็นมันอยู่ในฉากเล็ก ๆ เหมือนละครเวที ผู้คนก็เริ่มทำให้เราเห็นโครงสร้างของมัน…ที่ดูคลับคล้ายคลับคลาเสียเหลือเกิน
อย่าเรียกว่าคุ้น เรียกว่าใช่เลยดีกว่า นี่มันคือประเทศไทยชัด ๆ
เหตุการณ์ในเรื่องน่าจะเป็นประเทศไทยช่วงปี 40 ซึ่งบอกตามตรง ไม่ทัน ตอนนั้นน่าจะยังนั่งน้ำลายยืดอยู่ แต่ถึงเกิดไม่ทัน ผ่านมายี่สิบกว่าปี ประเทศไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไหร่หรอก หรือไม่จริง
ฉากที่ทัชใจที่สุดของเรื่องนี้สำหรับเราคงเป็นฉากที่เป็นเหมือนตัวแทนเสียงความเศร้าของผู้คน ของแรงงานส่วนมาก ผู้คนที่ต้องระหกระเหิน เจ็บปวด ทอดทิ้งภูมิหลังและบ้านเกิดออกไปหางานทำในเมืองใหญ่หรือดินแดนที่ไกลออกมา มันเป็นฉากเรียบง่ายบนรถยนต์ ลูกน้องครรชิตถือปืนกระบอกหนึ่งแล้วตุ้มก็จอดรถ บทเพลงในวิทยุย้ำเตือนให้หวนนึกถึงชีวิตในอดีต เป็นความเหงา ความเศร้า ความโดดเดี่ยวที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดเพียงลำพังเพื่อสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้ว่ามันคือความสุขของชีวิตไหม เป็นฉากสั้น ๆ ที่มีความขำขันแต่ก็น่าเศร้าใจ
จากฉากนี้ทำให้เรานึกไปถึงฉากเปิดเรื่องที่พนักงานหญิงหลายคนต้องถูกให้ออกด้วยการเสี่ยงเซียมซี เป็นสิ่งน่าขันที่สุดที่เกิดขึ้นจริง คนตัวเล็กที่ไม่มีหลักประกันความมั่นคง แรงงานที่ไร้อำนาจทำงานเพื่อหวังค้ำจุนชีวิตในวันถัดไป ทุกคนที่เคยเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างเม็ดเงินมหาศาลนั้นขึ้นมา แค่ดีดนิ้วคุณก็กลายเป็นคนตกงาน ไร้ค่าไปทันที เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงินก็แทบจะสูญสิ้นทุกอย่าง ขณะที่คนร่ำรวยบางประเภทใช้เงินทำผิดกฎหมายได้เพื่อความมั่นคงของตนโดยไม่ต้องสนอะไรเลยแม้กระทั่งผู้รักษากฎหมาย
เราต่างเพียงทอดทิ้งความฝันไป เพื่อหวังว่าชีวิตจะดีขึ้นได้อีกสักนิด
แมลงวันในแก้วหรือคนที่ปิดปากแก้วไว้
อีกฉากหนึ่งที่ติดตราตรึงใจคือฉากที่ตอกย้ำความเป็นเราด้วยภาพง่าย ๆ ของตุ้มที่กำลังปิดปากแก้วน้ำเอาไว้โดยมีแมลงวันบินอยู่ข้างใน จริงอยู่ที่ตุ้มเป็นคนปิดปากแก้วนั้นไว้ แต่ภาพของแมลงวันที่บินไปมาอย่างไร้อำนาจและไร้อิสระโดยไม่รู้ตัวอยู่ในโหลแก้วใส่ ๆ เส้นความตายวางอยู่บนมือเล็ก ๆ ช่วยตอกย้ำให้เราเห็นชีวิตเล็กจ้อยของเราในระบบยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่เพื่อเรา
ตุ้มเป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีปากเสียง หมายถึงไม่มีจริง ๆ (ทั้งรูปธรรมและนามธรรม) ตลอดทั้งเรื่องเราแทบจะไม่เห็นตุ้มปฏิเสธหรือพูดเพื่อต่อสู้ให้ตัวเองเลยนอกจากเออออห่อหมกไปตามคนอื่น ทั้งไม่มีอยากพูดและไม่ได้มีสิทธิ์พูดอะไรมาก สถานะของเธอจึงเหมือนมีอยู่เพื่อถูกกระทำ ไม่มีเรื่องราวของเธออยู่ในนั้นมากนัก เสียงของเธอเงียบมาก เป็นชีวิตสิ้นหวังที่แม้แต่เสียงโทรศัพท์โรคจิตก็โทรมาคุกคามได้ทุกเช้า ไม่มีใครสนใจที่จะทำอะไรกับมัน ตำรวจ (ดี ๆ –คิดว่านะ) ที่ตั้งใจทำงานเอาเวลาไปจับคนเล่นยา แล้วก็ตายเพราะอำนาจมืดที่เน่าเฟะอยู่ในสังคม เหลือแต่กากเดนของอะไรก็ไม่รู้ ปล่อยให้ผู้คนถูกมอมเมากันต่อไป จะมีใครมาสนใจ SMS หรือโทรศัพท์หลอกลวง เอ๊ย! โทรศัพท์คนโรคจิต
เหมือนประเทศนี้ที่เป็นเพียงห้องหมายเลข 6 ของตุ้มที่อยู่อาศัยไม่ได้อีกต่อไป
หนีสิคะ ไปไล่ตามความฝันเทพนิยายตามเจ้าหญิงไดอาน่าไปเหมือนตุ้ม ดีแค่ไหนที่เธอไม่ติดรูปซินเดอเรลล่าไว้เป็นแรงบันดาลใจ! หรือ Democracy ไทยคงไปไม่ถึง UK….อืม คิดไปเองมั้ง
แม้ว่าจะผ่านมา 23 ปี แต่เรื่องนี้ก็ยังฉายภาพชัดของสังคมไทย ดูเหมือนประเทศเราจะชอบเอาสิ่งนี้มาวนเล่นเป็นวัฏจักร จำพวกภาพสังคมที่สิ้นหวังเกินกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ เกษตรกร คนขับรถบรรทุก พนักงานบริษัท พนักงานรับจ้าง ฯลฯ อีกมากมายที่เราไม่รู้การมีอยู่ของพวกเขา ต่างเป็นคนตัวเล็กที่ถูกทอดทิ้งในระบบทุนนิยมยิ่งใหญ่ ตะโกนบอกปัญหาไปก็ถูกลืมความทุกข์ยาก อยู่เฉย ๆ ก็ถูกทิ้งต่อไป โดนลืมแล้วลืมอีกจนไม่เหลือแม้แต่เงา ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เพียงเฝ้ารอวันตายหรือไม่ก็รอว่าวันหนึ่งจะถูกหวย เอ๊ย มีเงินล้านมาหล่นใส่ และความข้นแค้นก็จะทำให้เรากระเสือกกระสนทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินนั้นมาเป็นของตัวเอง เพื่อที่เราจะไม่ต้องกลัวว่าพรุ่งนี้เราจะอดตาย
เลือดสร้างเงิน เงินสร้างเลือด
เรื่องเงินทองเป็นของแปลก เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตแม้ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม คำว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้นั้นไม่จริงทั้งหมด ในโลกยุคสมัยปัจจุบันทำให้เราตกอยู่ใต้อำนาจของเงินมาตั้งแต่ยังไม่ถือกำเนิด คนจำนวนมากมายต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายประทังชีวิต
เงินเป็นล้านบาทในลังมาม่าหมูสับสำหรับเรามันมากกว่าเงินเปื้อนเลือด ผู้คนมากมายสละชีวิตเพื่อมัน ไม่ใช่แค่เพียงเพราะมีคนยิงกันในห้องเล็ก ๆ ณ อพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง แต่มันอาจเป็นเงินที่ได้มาจากความทุกข์ทรมานหรือความลำบากของใครสักคน จากดอกเบี้ยหนี้ที่ไม่มีวันตัดเงินต้นได้ในชาตินี้ นักเสี่ยงโชคที่หวังรวยทางลัด ร่างกายที่ผุพังลงเพื่อเงินไม่กี่ร้อยต่อวันรอถูกทอดทิ้งเมื่อสิ้นประโยชน์ ความมอมเมาที่ถูกหยิบยื่นให้ แรงงานผู้ถูกกดขี่ทุกคน ฯลฯ
ก่อนที่มันจะไปถึงตรงนั้น มันต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากไหนสักที่ ซึ่งทำให้มันเปื้อนเลือดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ยิ่งเมื่อเงินนั้นถูกใช้เพื่อล้มมวย(โกง) มันยิ่งเปื้อนเลือดของใครสักคนแน่นอน
มันคือเงินที่แลกด้วยชีวิตผู้คนมากมาย และเมื่อมันไปอยู่ในห้องหมายเลข 6 เราคงเห็นพ้องต้องกันว่า ‘ชีวิตคนมีค่าน้อยกว่าเงินล้านหนึ่งเสียอีก’ คงเป็นความขำขันที่เราได้แต่ถอนใจ นี่มันสังคมแบบไหนกันที่เราสร้างขึ้น สร้างขึ้นด้วยการรีดเลือดจากปู และเราก็ปฏิเสธไม่ลงด้วยเหมือนกัน
คุณขำหนังเรื่องนี้ออกจริง ๆ เหรอ?
ใช่ ฉันขำหนังเรื่องนี้ออก
เออ มันคือตลกร้ายแหละ ทุกคนรู้ ยิ่งขำเท่าไหร่มันก็ยิ่งร้ายกาจเท่านั้น ทุกคนรู้ นี่มันประเทศฉันชัด ๆ ทุกคนรู้ แต่เรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือหนังเรื่องนี้แม่งสนุกมาก รายละเอียดยิบย่อยมากมายที่ดูไม่สลักสำคัญถูกใส่ลงไปทำให้หนังมีกิมมิค ถ้ามันขาดรายละเอียดยิบย่อยเหล่านั้นมันจะไม่เกิดความสนุกขึ้นเลย
เสี่ยงเซียมซีเพื่อเลย์ออฟคนออก พนักงานห้างสรรพสินค้า โทรศัพท์โรคจิต สาวเพื่อนบ้านที่คิดว่าผัวตัวเองมีชู้กับแผนล้างแค้นของนาง (ใครจะไปคิดว่าสามีพี่เพ็ญจะหล่อเบอร์นั้น) ลังใส่หนังสือคือความรู้ เงินในลัง ‘มาม่าหมูสับ’ ไม่ใช่ไวไว หรือป้ายเลข 6 ที่ตกเป็นเลข 9 สถานการณ์ที่วนเวียนมาบรรจบกัน เพียงเท่านี้ก็ทำให้เรื่องตลก 69 กลายเป็นที่ชื่นชอบในดวงใจใครหลาย ๆ คนได้แล้ว
ใครจะไปรู้ ว่าชีวิตจะออกมาเป็น 6 หรือ 9 สนุกจะตาย
เนี่ย ขนาดหนังยังต้องมีรายละเอียดยิบย่อยที่ดูเหมือนไม่สำคัญเลย ถึงจะออกมาดีได้ขนาดนี้ แล้วสังคมที่ขาดคนตัวเล็ก ๆ ไป หลงลืมกันไป มันจะออกมาดีได้ยังไง? (Gat เชื่อมโยงวนไป)
สุดท้ายเรื่องนี้ก็จบเหมือน…ไททานิค ทุกคนจมน้ำ ทุกอย่างจมน้ำ นางเอกรอดกลับบ้าน ประเทศไทยถูกแช่แข็ง ไม่คุ้นเลยจริง ๆ
Dying a second time
0 ความคิดเห็น